วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระรอด กรุวัดมหาวัน ( ตอน 3 )

                                                   พระรอด กรุวัดมหาวัน พิมพ์เล็ก


        สวัดดีครับ วันนี้ก่อนอื่นผมต้องขอโทษเพื่อนๆ ทุกท่านด้วยนะครับที่หายหน้าไปนาน คือพอดีว่าลูกสาวของผมไม่ค่อยสบายนะครับจึงต้องไปดูแลเขาก่อน
        วันนี้เรามาต่อจากวันก่อนกันเลยนะครับ วันก่อนผมได้กล่าวไปแล้วถึงที่มาของ " พระรอดกรุใหม่" วันนี้ผมจะพูดถึงกรรมวิธีการขุดพระรอด กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน ซึ่งการขุดพระรอดนั้นจะเป็นวิธีที่ละเอียดอ่อนและเป็นหลักวิชาการมาก เริมด้วยผู้ที่เข้าไปติดต่อประมูลการขุดจะต้องติดต่อกับท่านเจ้าอาวาสวัดมหาวันว่าขออนุญาตขุดทั้งหมดเป็นจำนวนกี่หลุม เมื่อขุดได้พระแล้วจะต้องนำพระมาให้ท่านเจ้าอาวาสดู เสร็จแล้วจึงจะสามารถตกลงเป็นราคาค่าเช่าพระรอดกับท่านเจ้าอาวาส เมื่อชำระเงินตามที่ตกลงกันแล้วจึงจะสามารถครอบครองพระรอดในองค์ที่ขุดขึ้นมาได้
        ที่ว่ากรรมวิธีการขุดเป็นไปตามหลักวิชาการนั้นคือช่างขุดผู้ชำนาญ 1 ฅน จะขุด 1 หลุม ผู้ที่ประมูลขุดกับท่านเจ้าอาวาสมีสิทธิขุดได้ 3 หลุม หรือ 4 หลุม ก็จะต้องว่าจ้างผู้ชำนาญขุด 3 หรือ 4 ฅน ตามจำนวนหลุม ผู้ประมูล หรือเราเรียกว่านายทุน จะต้องเฝ้าอยู่ที่ปากหลุมตลอดเวลา มืฉะนั้นถ้าช่างขุดพระรอดได้ก็อาจมิถึงมือนายทุน อันจะสร้างปัญหากับทางวัดมหาวันอย่างมากมาย กรรมวิธีขุดจะต้องขุดหลุมสี่เหลียมลึกลงไปในดินบริเวณระดับที่มักจะขุดพระได้ เสร็จแล้วช่างผู้ชำนาญจะค่อยๆ ใช้แปรงปัดดินออกเป็นขุย ดินส่วนใดแข็งเกินไปก็ต้องเอาสเปรย์ฉีดนำให้ดินร่วนและสามารถปัดดินเป็นขุยได้ ดินที่ปัดเป็นขุยแล้วก็ต้องค่อยๆโกยเอาดินออกและส่งมายังปากหลุมค่อยๆ ปัดดินไปเรี่อยๆ รอบๆ หลุมหรือลึกลงไปในหลุม ปัดอย่างใจเย็นๆ หลายๆ วัน หลายๆ เดือน จึงจะพบพระสักองค์ ถ้าขุดไม่พบพระ ตกเย็นก็ต้องปิดปากหลุมและเลิกขุด พร่งนี้ขุดใหม่ ปัจจุบันขุดชอนเข้าไปยังใต้พื้นพระอุโบสถ เพราะบริเวณลานนอกพระอุโบสถขุดจนพรุนหมดแล้ว ปัจจุบันพระรอดหน้าจะหมดแล้วนะครับ ( เป็นความเห็นส่วนตัว )
        เมื่อช่างขุดพบพระรอด ด้วยความชำนาญช่างจะทราบทันทีว่าขุดพบพระรอดแล้ว ต้องขุดเป็นก้อนดินขึ้นมาทั้งก้อนที่ห่อหุ้มพระรอดอยู่ภายใน แล้วส่งมอบให้นายทุนนำไปให้ท่านเจ้าอาวาสดู เดือนสองเดือนจึงจะขุดพระได้สักองค์ เพราะฉะนั้นความแตกตื่นดีใจจึงมีเป็นอย่างมาก ข่าวการขุดพระได้จะดังกระฉ่อนดังจนเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เรื่องการขุดพระรอดได้จึงไม่สามารถเก็บเป็นความลับได้อย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้นถ้าช่างขุดพระอมพระไปละก็ จะเกิดปัญหากับนายทุนผู้ประมูลการขุดได้อย่างแน่นอน ไหนจะไม่ใด้พระ ไหนจะเสียค่าแรงทุกวัน ไหนจะถูกท่านเจ้าอาวาสหาว่าโกงพระ ถูกสั่งไห้ระงับการขุดและจะไม่มีโอกาสขุดอีกตลอดชีวิต
        มาพูดกันถึงตอนที่ขุดพระได้แล้ว และนำพระรอดไปให้ท่านเจ้าอาวาสดูเพื่อประเมินราคา จุดสำคัญที่สุดก็คือต้องล้างดินออกเพื่อที่จะเห็นพระรอดทั้งองค์ว่าสมบูรณ์แค่ไหน สวยงามมากแค่ไหน ต้องล้างน้ำไห้ดินออกเกื่อบหมด เพราะต้องการเห็นความลึกและรายละเอียดของพระรอด โดยเฉพาะดินที่จับบนองค์พระรอดเป็นดินเหนียวที่จับแน่นมาก การล้างพระด้วยน้ำและปัดดินด้วยพูกันจึงจะสามารถล้างพระรอดให้สะอาดพอให้เห็นรายละเอียดความสวยงามขององค์พระได้สามารถจะประเมินราคาได้แม่นยำ โดยเฉพาะค่าเช่าพระรอดจะต้องประเมินกันองค์ละหลายล้านบาท ยิ่งจะต้องล้างไห้สะอาด ไห้เห็นเส้นแซมและเส้นน้ำตกว่าชัดแค่ไหน
        ผมยังจำคำสอนของท่านอาจารย์วิโรจน์ ใบประเสริฐ ได้ดีว่า เมื่อขุดพระขึ้นจากกรุ ไม่ว่าจะเป็นพระบูชาหรือพระเครื่องชนิดได ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อชิน หรือเนื้อดินเผา จะไปแตะต้องถูล้างไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะเนื้อพระจะอ่อนนิมมาก การถูล้างจะทำลายผิวขององค์พระหรือยุบสลายได้ง่ายมาก ต้องปล่อยทิ้งไว้นานเป็นเดือน ให้เนื้อพระถูกอากาศจนแข็งตัว และดินที่จับบนองค์พระแห้งและร่วนหลุดจากองค์พระ
พระจึงจะสวยคมชัดมาก พระรอดกรุมหาวัน จังหวัดลำพูน เป็นพระเนื้อดินเผา มีสีแตกต่างกัน เนื้อดินเผาแกร่งไม่เท่ากัน เช่น
        พระรอด สีขาว  เนื้อพระจะนิ่มมากเหมือนดินสอพอง องค์พระดูใหญ่
        พระรอด สีแดง เนื้อพระจะแข็งขึ้น สีแดงดูสวย องค์พระดูเล็กก่วา
        พระรอด สีเหลือง เนื้อพระจะแข็งแกร่งก่วาสีแดง พระจะดูหดตัวเล็กก่วาสีแดงเล็กน้อย ทำให้รายละเอียดขององค์พระดูชัดคมขึ้น
        พระรอด สีเขียวคาบเหลือง เนื้อพระค่อนข้างจะแข็งแกร่ง องค์พระจะดูเล็กลงก่วาพระเนื้อสีแดงและสีเหลือง รายละเอียดขององค์พระจะดูคมชัด โพธิ์หลังจะดูเป็นสันเป็นเหลี่ยม
        พระรอด สีเขียว เนื้อพระแกร่งมาก องค์พระยิ่งมีขนาดเล็กลง ความคมของลายละเอียดจะคมที่สุด
โพธิ์หลังขึ้นเป็นสัน รายละเอียดบนองค์พระจะเป็นเส้นมาก
        พระรอด สีเขียวเข้มหรือเขียวดำ เป็นพระที่มีเนื้อดินแข็งแกร่งที่สุด องค์พระมีการหดตัวมาก บางองค์หดตัวเสียจนมีขนาดเล็กผิดปกติ เพราะมีการหดตัวมาก รายละเอียดบนองค์พระจึงดูไม่ผึ่งผายเหมือนพระรอดสีเขียว
        เพราะฉะนั้น การที่ล้างพระรอดทันทีเพื่อประเมิณราคาขององค์พระกับท่านเจ้าอาวาส จึงมีผลทำให้ผิวขององค์พระถูกล้างทำลายความคมของศิลปะแม่พิมพ์ขององค์พระไป ดูผิวเผินจะเห็นองค์พระล่ำสันดี แต่รายละเอียดของแม่พิมพ์จะมน ไม่มีสันคม โดยเฉพาะโพธิ์หลังจะมนๆ ไม่เป็นสันตั้งฉากตามศิลปะแม่พิมพ์เดิม เป็นเหตุให้ความสวยงามขององค์พระลดน้อยลง เหมือนพระถูกล้างผิว
        ตรงกันข้ามกับพระรอดสีเขียว เนื้อพระแกร่งมาก ทนทานต่อการล้างน้ำ ทำให้องค์พระรอดสีเขียวยังคงผิวขององค์พระรอดไว้เหมือนเดิม โดยเฉพาะรายละเอียดศิลปะแม่พิมพ์จะคมชัดสวยงามตามศิลปะแม่พิมพ์เดิมของพระรอด ถ้าพระรอดเนื้อสีแดงและเนื้อสีเขียวมีความสวยงามพอๆ กัน ฅนโบราณจึงยึดถือ "พระรอดเนื้อเขียวมีความงามและมีคุณค่าสูงก่วา"
        สำหรับเรื่องราวของพระรอดผมขอจบไว้ตรงนี้ก่อนนะครับแล้วโอกาสหน้าผมจะมาพูดถึงเรื่องของตำหนิแม่พิมพ์รวมถึงจุดตายต่างๆที่จะชี้ว่าพระแท้หรือเก๊กันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น